วันศุกร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2552

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการกับการพัฒนาโรงเรียน

          
          
  ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานในโรงเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ จนอาจกล่าวได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนในประเทศไทย ในทุกระดับ


ความจริงแล้วคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” มิได้หมายถึงเฉพาะคอมพิวเตอร์เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำจำกัดความของคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (Infornation Technology )หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดกระทำข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูลให้ได้มาซึ่ง สารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสนเทศในโรงเรียนนั้น ควรคำนึงถึง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และให้เป็นประโยชน์สูงสุด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นในระบบการศึกษาอาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ

 
1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ


2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน

 
1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร


การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ สถานศึกษาหรือโรงเรียนควรมีแนวทางในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศในอันที่จะก่อให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้อง สามารถกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการที่มีข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนมากกว่าการคาดเดา ข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสองส่วนด้วยกันคือ



1.1 ด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ส่วนนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานของพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นระบบเครือข่ายจะสามารถทำให้การจัดการข้อมูลในแต่ละส่วนของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบต้องสามารถถ่ายโอนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายได้ การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนนั้น จัดทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมและงบประมาณ ดังนั้นโรงเรียนควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบเครือข่ายเพื่อให้คำปรึกษาหรือจัดวางระบบให้ได้มาตรฐาน และรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายในอนาคต


รูปที่ 1 แนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างง่าย




1.2 ด้านซอฟท์แวร์ สำหรับบริหารจัดการข้อมูล ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับระบบ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายที่ดี แต่ถ้าไม่มีซอฟท์แวร์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ระบบสารสนเทศในโรงเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะไม่มีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ถูกต้อง



ซอฟท์แวร์ หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารงานที่ดีควรมีองค์ประกอบดังนี้

1.2.1 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกันในทุกฝ่ายงาน ผ่านระบบเครือข่าย

1.2.2 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถประมวลผลข้อมูลใหม่ได้ทันทีที่ต้องการ (Real Time)

1.2.3 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายงานมาประมวลผลเป็น สารสนเทศที่เอื้ออำนวยต่อการบริหารงานในโรงเรียน

1.2.4 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตามลำดับชั้นของผู้รับผิดชอบ



รูปที่ 2 แสดงการบริหารข้อมูลพื้นฐานนักเรียน และการเรียกใช้







ฐานข้อมูลที่โรงเรียนควรต้องดำเนินการจัดเก็บเป็นข้อมูลกลางที่ฝ่ายต่าง ๆ สามารถเรียกใช้ผ่านระบบเครือข่าย ควรมีข้อมูลต่อไปนี้



ก. ข้อมูลนักเรียน

ข. ข้อมูลบุคลากร

ค. ข้อมูลแผนงาน/โครงการ



สารสนเทศพื้นฐานที่จำเป็นต่อการบริหารงาน



ก. สารสนเทศเกี่ยวกับตัวนักเรียน เช่น

- สารสนเทศเกี่ยวสภาพครอบครัว

- สารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

- สารรสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

- ฯลฯ

ข. สารสนเทศเกี่ยวกับบุคลากร

- สารสนเทศเกี่ยวกับประวัติบุคลากร

- สารสนเทศเกี่ยวกับความชำนาญการ และเชี่ยวชาญ

- สารสนเทศเกี่ยวกับการฝึกอบรม

- ฯลฯ

ค. สารสนเทศเกี่ยวกับงานแผนงาน โครงการต่าง ๆ

- สารสนเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ

- สารสนเทศเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ

- สารสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของงาน โครงการ



นอกจากนี้โรงเรียนอาจจัดระบบข้อมูลอื่น ๆ ตามความจำเป็น ให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าโรงเรียนได้ดำเนินการให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของโรงเรียนมากน้อยเพียงใด



2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนนี้ ต้องอาศัยนโยบายด้าน ICT ของโรงเรียน เพราะการนำเทคโนโลยีมาเพื่อการเรียนการสอนนั้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยโรงเรียนต้องดำเนินการให้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการใช้งานในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสะดวกในการใช้งาน กระจายสู่ห้องเรียน มากกว่ารวมอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และเน้นการใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และ สื่ออีเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้



2.1 ด้านอุปกรณ์ (Hard ware)โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ให้พอเพียงต่อการใช้งาน และกระจายลงสู่ห้องเรียน มากกว่ากระจุกอยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งจะเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เพื่อนำเสนอผลงาน และศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์

อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ควรจัดให้มีในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ

ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์)

ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์

ห้องปฏิบัติการทางภาษา (ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ)

ห้องปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้

ห้องสมุดสำหรับสืบค้นข้อมูล และใช้สื่อประเภทต่าง ๆ

ห้องเรียนอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน







2.2 ด้านสื่อการเรียนการสอน (Soft ware) โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสนับสนุนให้ครูใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาบทเรียนที่สอน โดยจัดเป็นศูนย์บริการสื่อการเรียนการสอน ซึ่งสื่อด้านอีเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สื่อประเภทสารคดี สื่อประเภทสถานการณ์จำลอง สื่อประเภทฝึกทักษะต่าง ๆ

2.3 ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเลือกใช้สื่อให้เหมาะสม การผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วยตนเอง ส่งเสริมให้มีการวิจัย วิเคราะห์ การใช้สื่อประเภทต่าง ๆ



หวังว่าแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียนนี้ จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนบ้าง หรืออย่างน้อยก็น่าจะไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละโรงเรียนได้บ้างนะคะ



ทีมา http://gotoknow.org/blog/jongpop/121138

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น